ขนมแห่งวัฒนธรรม ขนมของ…คนรักกัน

“ไอ้ทิหรือพ่อกะทิ” หนุ่มกำพร้าพ่อแม่  อยู่ตัวคนเดียว  พูดจริงทำจริง  ขยันขันแข็งเอางานเอาการ  ทุกคนในหมู่บ้านล้วนรักและเอ็นดูไอ้ทิ   “แม่แป้ง” ลูกสาวคนเดียวของผู้ใหญ่ปลั่งสาวสวยประจำหมู่บ้าน  นางกับไอ้ทิเจอกันในวันลอยกระทง  ทั้งคู่ขี่ควายสัญญากันต่อหน้าพระจันทร์  “ไม่ว่าข้างหน้าจะมีอุปสรรคขวางกั้นเพียงใด ทั้งคู่ก็จะขอเอาความรักแท้ที่จริงใจฝ่าฟันข้ามไป”  แล้วไอ้ทิก็รวบรวมเงินทองเท่าที่เก็บสะสมมาได้ไปบ้านผู้ใหญ่ปลั่งเพื่อสู่ขอแม่แป้ง  ซึ่งผู้ใหญ่ก็ต้อนรับมันอย่างดีด้วยชายฉกรรจ์ 6 นาย  พร้อมอาวุธครบมือ  ในที่สุดผู้ใหญ่ปลั่งก็ปิดหนทางความรักของไอ้ทิด้วยการคลุมถุงชนจัดงานแต่งงานให้ลูกสาวกับปลัดหนุ่มจากบางกอก

ไอ้ทิรู้ข่าวจึงรีบวิ่งทุรนทุรายหมายจะมาทำลายพิธี  ซึ่งผู้ใหญ่ปลั่งก็รู้ดีว่าไอ้ทิต้องกระทำแบบนี้  จึงขุดหลุมพรางดักรอเอาไว้
แม่แป้งแอบได้ยินแผนร้าย  ก็แอบหนีหมายจะมาห้ามคนรักไม่ให้หลงกล เหตุการณ์ต่อไปนี้ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์ ได้แต่ปะติดปะต่อมาจากคำบอกเล่าของชาวบ้านแบบปากต่อปาก      .. คืนนั้นเป็นคืนเดือนแรม แม่แป้งแอบวิ่งฝ่าความมืดออกมาดักหน้าไอ้ทิ ไอ้ทิเห็นแม่แป้งวิ่งมาก็ดีใจ รีบวิ่งไปหา แม่แป้งเห็นไอ้ทิรีบวิ่งมาก็รีบวิ่งเข้าไปหาให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก
ฉับพลัน…ร่างแม่แป้งก็ร่วงหล่นลงไปในหลุมพรางของผู้ใหญ่ปลั่งต่อหน้าต่อตาไอ้ทิทันที อารามตกใจ ไอ้ทิรีบกระโดดตามลงไปเพื่อช่วยเหลือ อารามดีใจ สมุนชายฉกรรจ์ 6 นายของผู้ใหญ่ปลั่งรีบเข้ามาโกยดินฝังกลบ เพราะคิดว่าก้นหลุมมีเพียงไอ้ทิผู้เดียวที่อยู่ในนั้น
รุ่งเช้า ผู้ใหญ่ปลั่งเดินยิ้มมาขุดหลุมเพื่อดูผล ภาพเบื้องล่างพบไอ้ทิตระกองกอดทับร่างแม่แป้งลูกสาวของตน นอนตายคู่กันอย่างมีความสุข เมื่อยิ้มถูกเปลี่ยนไปเป็นน้ำตา ผู้ใหญ่ปลั่งสั่งลูกสมุนสร้างเจดีย์คลุมครอบปิดหลุมนั้นไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจคนทั่วไปว่า อย่าคิดทำร้ายหรือทำลายความรักของใครอีกเลย สถานที่ตั้งเจดีย์นั้นไม่มีใครรู้แน่นอน จะมีก็แต่เพียงอนุสรณ์แห่งความรักที่กระทำสืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี
ทุกแรมหกค่ำเดือนหก ชาวบ้านที่ศรัทธาในความรักของไอ้ทิกับแม่แป้งจะตื่นตั้งแต่มืด เข้าครัวเพื่อทำขนมที่หอมหวาน ปรุงจากแป้งและกะทิ บรรจงแคะจากพิมพ์ แล้วนำมาวางคว่ำหน้าซ้อนกัน เป็นสัญลักษณ์ว่า จะได้อยู่ร่วมกันตลอดไป  ขนมนี้เรียกขานกันในนาม ขนมของ “คนรักกัน” หรือเรียกย่อๆ ว่า ” ขนม ค.ร.ก. ”

เรื่องเล่าน่ารักๆ  ซึ้งปนเศร้าของขนมซึ่งทำขายกันตามข้างถนน  ปากซอยเข้าบ้าน  ตลาดสด  ตลาดนัด  คงทำให้ทุกคนที่ได้อ่านมีรอยยิ้มเล็กๆเกิดขึ้นในหัวใจ  คนไทยทุกเพศทุกวัย  ไม่ว่ายากดีมีจนรู้จักขนมครก  ฉันจำได้ว่าเมื่อลูกคนแรกอายุ 4 เดือน  เริ่มหัดกินอาหารเสริมนอกจากนม  น้ำส้ม,  กล้วยน้ำว้าครูด, ข้าวบด, ไข่แดง  ขนมครก, ขนมกรวยเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่คุณย่า  คุณยายมักใช้ป้อนลูกหลานให้อิ่มท้อง  ขนมครก  จึงเป็นอาหารมื้อแรกๆของเด็กไทย

ขนมครก เป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่ง ทำจากแป้ง น้ำตาล และกะทิ แล้วเทลงบนเตาหลุม เวลาจะทานต้องแคะออกมา เป็นแผ่นวงกลม แล้วมักวางประกบกันตอนรับประทาน เป็นขนมของไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ  มีหลักฐานว่าขนมครกเป็นที่นิยมแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการทำเตาขนมครกขายตั้งแต่ยุคนั้น ลักษณะเป็นหลุมของเตาขนมครกนี่เองที่มีลักษณะคล้ายครกตำข้าวจึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อขนมครก  เพราะขนมไทยมักมีชื่อเรียกตามลักษณะขนม  หรือภาชนะที่ใส่  เช่น  ขนมถ้วยหน้ากะทิ ถ้าใส่ถ้วยตะไลก็เรียก “ขนมถ้วย” แต่เมื่อนำขนมใส่ลงในกรวยใบตองแล้วนึ่งให้สุกก็เรียกว่า “ขนมกรวย”หรือ “ขนมหางหนู” ก็เพราะปลายแหลมๆนิ่มๆ  ขนมครกและขนมไทยอื่นๆก็คงเหมือนกัน

ขนมไทย มีส่วนประกอบที่เป็นส่วนผสมหลัก 3 ชนิด คือ แป้ง น้ำตาลและมะพร้าว ซึ่งเป็นส่วนผสมที่หาได้ง่าย  ต้นทุนต่ำ  ส่วนขนมที่ทำจากไข่นั้นเพิ่งมีขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เช่น  ฝอยทอง  ทองหยิบ  ทองหยอด  ขนมหม้อแกง  ฯลฯ  ซึ่งคิดทำขึ้นโดยท้าวทองกีบม้าซึ่งเป็นลูกครึ่งโปรตุเกส   ญี่ปุ่น และเบงกอล  ขนมครกจึงเป็นขนมไทยแท้  แต่เดิมขนมครกใช้ข้าวเจ้าแช่น้ำโม่รวมกับหางกะทิ  ข้าวสวย และมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย  ผสมเกลือเล็กน้อยใช้เป็นตัวขนม ส่วนหน้าของขนมครกเป็นหัวกะทิ แต่ขนมครกที่ขายกันทั่วไปทุกวันนี้มักมีแต่ตัวขนมนิ่มๆ  กินกับน้ำตาลทราย  หรืออีกแบบหนึ่งที่เคยพบมีตัวขนมด้านนอกกรอบเกรียม  ส่วนหน้าหัวกะทิมีรสหวานโรยด้วยเผือก  ฟักทอง  ต้นหอม ฯลฯ  ฉันชอบขนมครกแบบแรกมากกว่าอาจเพราะเคยกินมาแต่เด็ก  และเป็นขนมครกแบบชาวบ้าน  ส่วนขนมครกมีหน้าเป็นลักษณะของขนมครกชาววัง  แต่ก็มีผู้นิยมซื้อหามารับประทานกันเยอะ  คนไทยนิยมรับประทานขนมครกร้อนๆ ตอนเช้า  แต่ก็มีขนมครกขายกันทั้งตลาดเช้า  ตลาดเย็น  บางคนรับประทานแทนข้าวเช้าข้าวเย็น  บางคนรับประทานกับกาแฟคล้ายปาท่องโก๋  บางคนรับประทานเล่นๆเป็นขนม  ขนมครกทำให้อิ่มท้องได้ซักพักใหญ่ๆทีเดียว

เรื่องเล่าเกี่ยวกับขนมครกยังมีอีกมากมาย  มีหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในธรรมบทเรื่องหนึ่งใจความโดยสรุปว่า  “ พระองค์ต้องการสั่งสอนโกสิยะเศรษฐีขี้เหนียว  แม้ว่าครอบครัวจะร่ำรวยก็ตาม  โดยวันหนึ่งเศรษฐีเห็นยาจกยากจนกำลังกินขนมครกก็อยากกินบ้าง  แต่ด้วยความขี้เหนียวก็อดกลั้นความอยากไว้เพราะกลัวสิ้นเปลืองเงินทอง  เมื่อภรรยาทราบก็แอบทำขนมครกโดยไม่ให้ใครรู้เพื่อจะให้สามีกินคนเดียว  เมื่อพระพุทธเจ้าทราบจึงให้พระโมคคัลลานะไปอบรมสั่งสอนโดยแสดงผลของการให้ทาน  เมื่อเศรษฐีได้ฟังก็เลื่อมใสนำขนมครกไปถวายพระพุทธเจ้า เปลี่ยนนิสัยกลายเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุกคน และหมั่นทำบุญให้ทานเป็นกิจวัตร ”  เพื่อสืบทอดประเพณีทำบุญตักบาตรที่มีมาแต่พุทธกาลจึงเกิดพระราชพิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5  คือประเพณีการตักบาตรขนมเบื้องซึ่งเป็นพระราชพิธีในวัง  ทุกวันนี้ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี  ตั้งแต่  พ.ศ.2437  ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ  จังหวัดสมุทร สงครามชาวบ้าน  ลูกเล็กเด็กแดง  ผู้เฒ่าผู้แก่จะมาร่วมประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ต่างร่วมแรงร่วมใจ เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนและมีเพียงแห่งเดียวในโลก  ซึ่งทางชุมชนจัดต่อเนื่องยาวนานถึงร้อยกว่าปีมาแล้ว  โดยเริ่มจากสมัยนั้นชาวบ้านที่มาทำบุญตักบาตรโดยมากมีฐานะยากจน ท่านเจ้าอาวาสอยากให้ชาวบ้านทำบุญตักบาตรด้วยวิธีที่ไม่ต้องเสียเงินจำนวนมาก จึงให้นำขนมครกมาถวายแทนการตักบาตรด้วยอาหาร เพราะขนมครกสำหรับผู้คนที่นี่เป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหา  วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของขนมครกก็หาได้ไม่ยากในชุมชน อีกทั้งยังเป็นขนมหวานซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครนำมาถวาย จึงกลายเป็นประเพณีการตักบาตรขนมครกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากงานเล็กๆ ที่มีชาวบ้านในชุมชนช่วยกันจัดด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา  แรก เริ่มเดิมที ชาวบ้านบอกว่าต่างคนต่างทำขนมครกกันเองที่บ้าน แล้วนำมาตักบาตรรวมกันที่วัด โดยไม่ผิดแผกกับปัจจุบัน คือนำขนมครกใส่ใบตองนำไปวางถวายให้พระสงฆ์ไว้บนถาด และนำน้ำตาลทรายใส่บาตรที่เรียงรายอยู่  ปัจจุบันประเพณีตักบาตรขนมครกได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักมากขึ้น  ชาวบ้านจึงต้องมาช่วยกันทำขนมครก  ทั้งหยอด แคะ กันที่วัด เพื่อให้ขนมครกมีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่อยากมาร่วมทำบุญกัน  กลายเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับจังหวัด มีส่วนราชการเข้ามาช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน งานนี้จึงมีชื่อเสียงมีนักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาแวะเวียนเยี่ยมชมและทำบุญกันล้นหลาม ผู้คนมากมาย ทั้งชาวบ้านและเด็กๆ ในชุมชน รวมไปถึงนักท่อง เที่ยว ต่างช่วยกันหยอด  แคะ และช่วยนำขนมครกจัดเรียงใส่ในกระทงใบตองสีเขียวสวยไปวางเรียงบริเวณหน้าศาลาการเปรียญ  ทั่วทั้งบริเวณงานหอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นขนมครกร้อนๆ  การเตรียมงานจึงต้องเริ่มกันตั้งแต่ฟ้ายังมืด  ชาวบ้านจะมารวมตัวกัน เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันตั้งแต่การโม่แป้งขนมครกเลยทีเดียว มีหลายส่วนที่ชาวบ้านร่วมกันช่วยดูแลและจัดการ เด็กๆต่างมาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ซึมซับความสำคัญของงานบุญประเพณีประจำถิ่นของตน และเกิดความรู้สึกอยากสืบสานไว้ต่อไป  สิ่งที่ชาวบ้านและเด็กๆ ได้รับหลังจากจัดงานบุญประเพณีตักบาตรขนมครกเป็นความสามัคคีที่แฝงมาในความหอมกรุ่นของขนมครกหลายร้อยคู่ที่ ร่วมแรงแข็งขันทำขึ้นด้วยความศรัทธา  ขนมแห่งความรักกรุ่นกลิ่นแห่งศรัธาทางพระพุทธศาสนา  ส่งต่อความรักความห่วงใยจากปู่ตาย่ายายสู่ลูกหลาน  รุ่น  สู่รุ่น  หอมกรุ่น  อุ่นลิ้น  ละมุนละไมในหัวใจ  ขนมของคนรักกัน  ขนมครก…อาหารมื้อแรกๆของคนไทย.

 

                                          นางภัทรพร  ช่วยชนะ

ใส่ความเห็น